การสกรีนเสื้อ มีกี่แบบ แต่ละแบบมีข้อดี ข้อเสียอย่างไร [อัพเดต 2024]

การสกรีนเสื้อ ในปัจจุบัน มีหลักอยู่ัท้งหมด 5 แบบ

วิธีการ การสกรีนเสื้อ ในปัจจุบัน มีมากมายหลายรูปแบบ แตกต่างไปกันกับจุดประสงค์ของการสกรีนเสื้อ ไม่ว่าจะเป็นจำนวนที่ต้องการสกรีน ขนาดงานพิมพ์ เนื้อผ้าของเสื้อที่ต้องการสกรีน โดยวิธีหลัก ๆ จะมีอยู่ 5 รูปแบบ ที่เป็นที่นิยมใช้ในปัจจุบัน ดังนี้

  1. รูปแบบซิลค์สกรีน (Silk screen)
  2. รูปแบบ DTG (Direct to Garment)
  3. รูปแบบ ซับลิเมชั่น (Sublimation)
  4. รูปแบบ เฟล็ก (Flex)
  5. รูปแบบ DTF (Direct to Film)/ DFT (Digital Film Transfer)

รูปแบบซิลค์สกรีน (Silk screen)

เป็นการสกรีนด้วยบล็อคสกรีน ซึ่งเป็นกรอบไม้สี่เหลี่ยม ขึงผ้าที่ฉลุด้วยลายพิมพ์ จากนั้นนำไปวางบนวัสดุที่ต้องการสกรีน แล้วปาดสีลงไป สำหรับ 1 บล็อค จะใช้สำหรับ 1 สี งานสกรีนรูปแบบซิลค์สกรีน เป็นมาตรฐานงานพิมพ์สกรีนทั่วไป ลวดลายเรียบง่าย มีหลายเทคนิคให้เลือก ทั้งสกรีนสีจม สกรีนสีนูน สกรีนสียาง สกรีนฟอยล์ 

ขั้นตอนการสกรีน จะเริ่มด้วยการนำงานที่ต้องการสกรีน มาทำฟิล์มเพื่อแยกสี แล้วปริ้นส์ฟิล์ม สำหรับนำไปฉลุเป็นลายพิมพ์ สำหรับทำบล็อคสกรีน วิธีการพิมพ์ซิลค์สกรีน พิมพ์ได้ทั้งแบบการพิมพ์ด้วยมือ และ การพิมพ์ด้วยเครื่อง โดยทั่วไปนิยมการพิมพ์ด้วยมือ สำหรับการพิมพ์ในปริมาณไม่มากนัก การพิมพ์ด้วยเครื่อง สามารถพิมพ์หลายสีได้ดีกว่า เพราะน้ำหนักของการปาดหมึกพิมพ์ สามารถปรับตั้ง และควบคุมได้ตลอดการพิมพ์ ซึ่งการพิมพ์ด้วยมือทำ ได้ยาก เทคนิคของการพิมพ์ จะต้องอาศัยการฝึกทักษะปฏิบัติการพิมพ์จริงจึงจะสามารถพิมพ์ได้ดี

งานสกรีนรูปแบบซิลค์สกรีน (Silk screen) เหมาะกับงานที่ใช้จำนวนเยอะ แต่สีไม่เยอะ งานซิลด์สกรีนจะมีสีไม่เกิน 7 บล็อกรวมขาวและดำ  ไม่มีข้อจำกัดในเรื่องของขนาดงานสกรีน โดยสามารถกำหนดขนาดงานสกรีน ได้ตั้งแต่ 0.5 เซนติเมตร จนถึง 4 เมตร ซึ่งในกรณีที่งานสกรีนมีขนาดใหญ่ ขนาดบล็อคที่ใช้ต้องมีขนาดใหญ่ตามไปด้วย ซึ่งถ้าบล็อคมีขนาดใหญ่ ควรจะมีจำนวนชิ้นงานในปริมาณมาก เพื่อให้ต้นทุนต่อชิ้นงานนั้นถูกลง

แล้วเนื่องด้วยงานสกรีนแบบซิลค์สกรีน (Silk screen) เป็นการนำสีมาสกรีนตามบล็อคที่ได้สร้างไว้ งานสกรีนจึงมีโอกาสแตกลาย หรือหลุดลอกได้ หากไม่ดูแลรักษาหรือใช้งานผิดวิธี

รูปแบบ DTG (Direct to Garment)

เป็นการพิมพ์ลงบนผ้าโดยตรง โดยใช้เครื่องพิมพ์ Digital printer ด้วยหมึก Pigment ทำให้ได้งานพิมพ์สีคมชัด สามารถพิมพ์กี่สีก็ได้ การทำงานของเครื่องเหมือนกับการพิมพ์ลายลงบนกระดาษ ที่เราพรินต์งานต่าง ๆ  แต่เปลี่ยนจากกระดาษเป็นเนื้อผ้า ด้วยการทำงานของเครื่องพิมพ์ดิจิตอล ทำให้เหมาะกับงานพิมพ์ที่มีรายละเอียด ให้สีสันคมชัด รายละเอียดสูงถึง 1200 dpi โดยงานพิมพ์ซิลค์สกรีน (Silk Screen) ปกติให้ความคมชัด 120 dpi

งานสกรีนรูปแบบ DTG (Direct to Garment) ไร้ข้อจำกัดเรื่องสีของเสื้อที่ต้องการสกรีน เนื่องจากสกรีนได้บนเสื้อทุกสี ไม่ว่าจะเป็นเสื้อสีอ่อน หรือเสื้อสีเข้ม แต่การสกรีนบนเสื้อสีขาว จะถูกกว่าเสื้อสีเข้ม เนื่องจากเสื้อสีเข้มจะต้องทำการรองพื้นก่อน เพื่อให้ได้งานพิมพ์ที่สีที่สดขึ้น

เหมาะกับงานที่จำนวนไม่มากนัก และต้องการความรวดเร็ว เนื่องจากหากงานที่มีจำนวนมาก จะทำให้มีต้นทุนการสกรีนสูงกว่างานพิมพ์แบบซิลค์สกรีน และมีข้อจำกัดในเรื่องของเนื้อผ้า เนื่องจากหมึกรูปแบบนี้ จะสกรีนติดเฉพาะ ผ้าคอตตอนเท่านั้น 

ข้อเสียของงานสกรีนรูปแบบ DTG (Direct to Garment) คือ ถ้าพิมพ์งานปริมาณมาก ราคาจะแพงกว่ารูปแบบซิลค์สกรีน (Silk Screen) และ รูปแบบเฟล็ก (Flex) รวมทั้งขนาดพิมพ์มีข้อจำกัด คือพิมพ์ได้ไม่เกินขนาด 50 cm x 50 cm และหากผู้สกรีนงาน ไม่มีความเข้าใจในการเตรียมงาน จะทำให้งานพิมพ์ออกมาไม่ดีพอ

รูปแบบ ซับลิเมชั่น (Sublimation)

เป็นการปริ้นท์ภาพลงบนกระดาษด้วยหมึก Sublimation (ที่ภาษาไทยเรียกว่าหมึกพิมพ์สีระเหิด ซึ่งจะแตกต่างกับหมึก Printer ที่ใช้ในสำนักงาน) การสกรีน จะสกรีนโดยใช้ความร้อนกดทับไปยังวัตถุที่ต้องการจะสกรีน สามารถทำได้กับวัสดุที่หลากหลายประเภทไม่ได้จำกัดอยู่แค่เสื้อผ้าเท่านั้น

การรีดด้วยความร้อน เป็นการรีดโดยใช้เตารีด หากเป็นงานสเกลที่เล็ก หรือเครื่องรีดร้อน (Heat transfer) ตัวหมึกจากกระดาษ จะระเหิดและซึมลงไปที่เนื้อผ้า

การพิมพ์แบบลงไปยังกระดาษด้วยน้ำหมึกซับลิเมชั่น กระบวนการทำงานจะเริ่มโดยการสั่งพิมพ์รูปลงไปยังบนกระดาษซับลิเมชั่น จากนั้นนำกระดาษที่พิมพ์ไปวางทับลงบนผ้าแล้วรีดด้วยความร้อน 200  องศา โดยการกดทับเพื่อถ่ายเทตัวน้ำหมึกจากกระดาษลงบนเนื้อผ้า

การสกรีนรูปแบบซับลิเมชั่น (Sublimation) เหมาะกับงานไม่จำกัดสี บนผ้าสีอ่อน ชนิดผ้าโพลีเอสเตอร์ (Polyester) มีส่วนผสมของโพลีเอสเตอร์เป็นส่วนใหญ่ เช่น ผ้า TC, ผ้า TK, ผ้านาโน, ผ้า Spandex และ เหมาะกับงานพิมพ์ทุกจำนวน 

มีข้อจำกัด คือไม่สามารถพิมพ์ลงบนผ้าคอตตอน และผ้าสีเข้มได้ ต้องพิมพ์งานลงบนผ้าสีอ่อนเท่านั้น

รูปแบบ เฟล็ก (Flex)

เป็นการออกแบบงานผ่านคอมพิวเตอร์ จากนั้นนำไปตัดด้วยเครื่องตัด Flex แล้วรีดความร้อน เพื่อให้แผ่น Flex ละลายติดบนเสื้อ เป็นงานสกรีนที่ทำการตัดไดคัทบนชิ้นงานต่าง ๆ เช่น กำมะหยี่ เป็นรูปทรงต่างๆ หรือตัวอักษร และนำมารีดร้อนบนเสื้อ หมวก ถุงผ้า หรือวัสดุต่างๆ เป็นรูปแบบงานที่ใช้เวลาค่อนข้างเร็ว เนื้องานมีความสวยงาม  

งานสกรีนรูปแบบ เฟล็ก (Flex) แบ่งออกเป็น 2 รูปแบบคือ เฟล็กปริ้น และ เฟล็กตัด

เฟล็กปริ้น

4.1 เฟล็กปริ้น คือการนำไฟล์แบบ ที่เตรียมไว้มาปริ้นลงแผ่นเฟล็ก โดยใช้น้ำหมึก Eco Solvent จากนั้นนำมารีดบนเสื้อ ด้วยอุณภูมิความร้อนสูง เหมาะสำหรับงานสกรีน โลโก้ หรือลายขนาดเล็ก

เฟล็กตัด

4.2 เฟล็กตัด คือการนำไฟล์แบบ ที่เตรียมไว้มา ตัด เป็น ตัวหนังสือ หรือลวดลายต่างๆ เนื้องานจะเป็น สีเดียว เหมาะสำหรับงานสกรีน ชื่อทีม ชื่อคน หรือรูปทรงต่างๆ

ขั้นตอนการสกรีน คือนำชิ้นงานที่ออกแบบเป็นลายเส้น ข้อความ รูปภาพ เบอร์เสื้อกีฬา ออกแบบด้วยโปรแกรม ใช้เครื่องตัดสติกเกอร์เป็นผู้ผลิตชิ้นงานที่ออกแบบ โดยตัดตามลายเส้น หรือข้อความตามที่เราต้องการ จากนั้นนำชิ้นงานที่ผลิตออกมา วางบนตำแหน่งที่ต้องการรีด ลงบนเสื้อผ้า ก่อนนำไปรีดลงบนเสื้อผ้าต่างๆ ด้วยเครื่องรีดความร้อน (Heat Transfer) รีดชิ้นงานแผ่นเฟล็กซ์กับเนื้อผ้าด้วยกัน แล้วลอกฟิล์มพลาสติกออกจากชิ้นงานนั้น

ข้อเสีนของงานสกรีนรูปแบบนี้คือ มีขนาดพิมพ์ที่ค่อนข้างจำกัด เนื้องานสกรีนจะหนัก ไม่มีรูระบาย หากสกรีนในจำนวนที่เยอะ ต้นทุนจะมากกว่าซิลค์สกรีน และเนื่องจากเป็นการรีดร้อนบนชิ้นงานผ้า จึงมีโอกาสหลุดลอกได้

รูปแบบ DTF (Direct to Film)/ DFT (Digital Film Transfer)

เป็นการพิมพ์ภาพลงบนแผ่นฟิล์ม ด้วยหมึกสำหรับงานผ้า เครื่องพิมพ์ DFT นี้ จะพิมพ์หมึก น้ำเงิน แดง เหลือง ดำ ( C M Y K ) และ ขาว ( W ) ลงบนฟิล์ม งานพิมพ์ซึ่งมีการรองขาว ทำให้ภาพโดดเด่นขึ้นมา สีไม่ดรอปไปกับเนื้อผ้า สามารถใช้งานได้กับผ้าได้ทุกสี ทั้งสีเข้มและสีอ่อน ไม่จำกัดจำนวนสีที่ใช้ ทำให้สามารถสกรีนจำนวนน้อยได้ 

ขั้นตอนการสกรีน เริ่มจากนำรูปที่ต้องการพิมพ์เข้าโปรแกรมสั่งพิมพ์รูปผ่านเครื่องปริ้น DTF แล้วนำแผ่น PET Film ที่พิมพ์เสร็จแล้วนำมาโรยผงกาว แล้วร่อนผงกาวให้ทั่วแผ่นฟิล์ม ตัวเครื่องจะมีการโรยกาวลงบนหมึกสีขาวและทำการอบให้กาวละลาย จากนั้นสามารถนำแผ่นฟิล์มไปวางบนผ้าและรีดร้อนได้ทันที นำแผ่นฟิลม์ที่ได้ไปรีดเสื้อที่ต้องการเพียง 10 วินาที ก่อนรีดรองทับด้วยแผ่นเทฟลอนหรือกระดาษไขก่อนทุกครั้ง 

งานสกรีนรูปแบบ DTF ถูกพัฒนาออกมาให้ลดขั้นตอนการผลิตและลดข้อจำกัดของเนื้อผ้า ให้ใช้งานได้หลายชนิดมากขึ้น งานสกรีนรูปแบบ DTF (Direct to Film) สามารถทำได้กับทุกเนื้อผ้า ทั้ง COTTON 100% ,TK, TC การสกรีนติดแน่นเรียบเนียนไปกับเนื้อผ้า ดูแลรักษาง่าย และทนทานต่อการซัก สีไม่ตก 

แต่มีข้อจำกัดคือเนื้องานที่อยู่บนผ้าจะทึบ ไม่มีรูระบาย

“สมศรีมีเสื้อ” ผู้เชี่ยวชาญรับผลิตและสกรีนเสื้อ

งานสกรีนไม่ใช่เรื่องยาก เพียงแค่ทราบ จำนวนที่ต้องการสกรีน ขนาดงานพิมพ์ เนื้อผ้าของเสื้อที่ต้องการสกรีน ขนาดของงานสกรีน ก็สามารถเลือกแนวทางการสกรีนที่เหมาะสมกับงานที่ต้องการใช้งานได้ 

หากต้องการงานสกรีน หรือรับคำปรึกษา “สมศรีมีเสื้อ” ผู้เชี่ยวชาญรับผลิตและสกรีนเสื้อ เสื้อโปโล ยูนิฟอร์ม เสื้อกีฬา เสื้อองค์กร ปัก สกรีนโลโก้ ตกแต่ง ออกแบบเสื้อได้ตามต้องการ ทำเสื้อทุกรูปแบบทุกประเภทให้คุณได้เลือกสรร เราใส่ใจตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบ เพื่อให้ผลงานออกมาสวยงามตรงใจลูกค้า และเรายังมีเทคนิคการสกรีนที่หลากหลาย

แชร์โพสต์นี้